กระทรวงวิทย์ฯ เตรียมขยายเครือข่ายความร่วมมือ วทน. เพื่อสร้างการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในประชาคมอาเซียน กับงาน ASEAN Next 2019
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมเปิดเวทีส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจ และต่อยอดผลการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประชาคมอาเซียนกับงาน ASEAN Next 2019
วันที่ 13 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) / รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวความพร้อมการจัดงาน “ASEAN Next 2019 : STI Leading towards Community Happiness” โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่เจรจาเข้าร่วมงานฯ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างอาเซียนกับประเทศญี่ปุ่น และร่วมกันจัดทำแผนกิจกรรมความร่วมมือรายสาขาที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของประชาคม รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน วทน. ในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาคมทั้งในเชิงเศรษฐกิจที่สามารถเพิ่มรายได้ และเชิงสังคมที่ใช้ทักษะในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประชาคมได้ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะสามารถนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนในประชาคมอาเซียนต่อไป
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า ASEAN Next 2019 เป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ริเริ่มและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2017 หรือ พ.ศ.2560 โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่างาน ASEAN Next ของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย จากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ให้การตอบรับและเข้าร่วมจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นแรงผลักดันให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดกิจกรรม ASEAN Next 2019 ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและต่อยอดความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา
สำหรับงาน ASEAN Next 2019 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) ภายในงานมีกิจรรมที่หลากหลาย และมีหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ดังนี้
การจัด Forum ในสาขาด้าน วทน. ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในการจัดทำแผนงานความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ
- การปฏิรูปความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.)
- โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพเพื่อการเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมและศักยภาพทางการแข่งขัน โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)
- เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อนวัตกรรมทางวัตถุ โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)
- เครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นกรณีศึกษาว่าด้วยผลกระทบของศักยภาพด้านนวัตกรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.)
นอกจากนี้ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน วทน. ของอาเซียน ได้แก่
- Quality Audit for Personal Dosimetry for Individual Monitoring Service Laboratory in Southeast Asia โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)
- Enhancement of capacity building for FCM testing laboratories among ASEAN member states โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
- ASEAN Sustainable and Environmental Materials Workshop โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
- ASEAN Workshop on Green Construction Material for Community and MSMEs โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
- Railway technology for track and Rolling stock maintenance โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
- International Workshop Bioresource Centre: Connecting the Nature, Creating the Future โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
วีดีโอ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
ข้อมูลโดย : สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์
ประสานงานได้ที่ : ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 – 3732 โทรสาร 0 2333 3834
E-Mail: pr@most.go.th Facebook: sceincethailand